วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

ดินแดนอาทิตย์เที่ยงคืน


นอร์เวย์ได้ชื่อ "ดินแดนอาทิตย์เที่ยงคืน" หรือ The Midnight Sun มาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะโลกกลมและหมุนรอบแกนของตัวเอง พร้อมโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย โดยจะเอียงแกนเอาขั้วโลกเหนือ-ใต้ สลับเข้าหาดวงอาทิตย์ชั่วระยะหนึ่งใช้เวลาเท่าๆ กันคือประมาณ 4-6 เดือน ระหว่างที่โลกหันเอาขั้วนั้นเข้าหาดวงอาทิตย์จะเป็นฤดูร้อน
เมื่อโลกเอียงเอาขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ขั้วโลกเหนือจะได้รับแสงสว่างและความร้อนเต็มที่ สว่างอยู่เป็นเวลา 24 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลานับเดือน จะเห็นอาทิตย์โคจรเป็นทางโค้งอยู่เหนือขอบฟ้า ขึ้นสูงพ้นยอดไม้ และค่อยลดต่ำลงจนเกือบจดขอบฟ้า แต่จะไม่ลับขอบฟ้าไปเสียเลยทีเดียว ก่อนกลับสูงขึ้นไปอีกในตอนเที่ยงคืน ทำให้มีแสงสว่างสาดเป็นทาง ต้นไม้มีเงายาวทอดออกไปตามพื้นดิน คล้ายอาทิตย์ในยามเช้าหรือยามเย็น
ขณะเดียวกัน ฝั่งตรงข้ามคือขั้วโลกใต้จะมืดมิด อากาศหนาวจัดตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อนับเป็นเดือนเช่นกัน แต่เมื่อโลกเอียงเอาขั้วโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ขั้วโลกใต้ก็จะสว่างเป็นเวลานาน และมีปรากฏการณ์เห็นดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงคืนเช่นกัน (เพียงแต่ว่าซีกโลกนั้นไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยยืนยัน มีเพียงเพนกวินจักรพรรดิเท่านั้นที่เตาะแตะชมวิว) ยามขั้วโลกเหนือตกอยู่ในความมืด อากาศหนาวจัดตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อนับเป็นเดือน
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เที่ยงคืน ณ โลกเหนือ จะเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่เหนือเส้นอาร์ติกเซอร์เคิล หรือประมาณเส้นละติจูดที่ 66 องศาเหนือ ทำให้ผู้คนในประเทศที่อยู่เหนือเส้นละติจูดนี้มองเห็นดวงอาทิตย์ทั้งในเวลา กลางวันและกลางคืน
สำหรับนอร์เวย์ สถานที่ที่ชมตะวันยามเที่ยงคืนได้เหมาะเจาะคือเมืองทรอมโซ่ ระหว่าง 16 พฤษภาคม-27 กรกฎาคม และเมืองสวาลบอร์ด ซึ่งเป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอาร์กติก ทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่นอร์เวย์ขึ้นไปอีก 640 กิโลเมตร ระหว่าง 19 เมษายน-23 สิงหาคม
นอกจากนอร์เวย์ ดินแดนที่อยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล ประกอบด้วย อะลาสกา แคนาดา กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ และดินแดนของรัสเซียอย่างบริเวณโนวาวา เซมล์ยา หรือมูร์มันสก์ ก็สามารถมองเห็นอาทิตย์เที่ยงคืนได้เหมือนกัน ทั้งนี้ดินแดนที่เคยมีบันทึกว่าเกิดปรากฏการณ์อาทิตย์เที่ยงคืนนานที่สุด คือทางปลายเหนือสุดของฟินแลนด์ ดวงอาทิตย์ไม่ตกดินนานถึง 73 วัน
สำหรับการจัดเวลากลางวันกลางคืน ดวงอาทิตย์ไม่สร้างความสับสน เพราะว่าไปตามนาฬิกาเป็นปกติ

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

หิมะ


หิมะ เป็นรูปหนึ่งของการตกลงมาของน้ำจากบรรยากาศ อยู่ในรูปของผลึกน้ำแข็งจำนวนมากเรียก เกล็ดหิมะ จับตัวรวมกันเป็นก้อน ดังนั้นหิมะจึงมีเนื้อที่หยาบเป็นเกล็ด และมีโครงสร้างที่กลวงจึงมีความนุ่มเมื่อสัมผัส
หิมะนั้นเกิดจากละอองน้ำเกิดการเกาะรวมตัวกันในชั้นบรรยากาศที่อุณหภูมิต่ำว่า 0°C (32°F) และตกลงมา นอกจากนี้หิมะยังสามารถผลิตได้จาก
เครื่องสร้างหิมะเทียม(snow cannon)
รูปทรงของเกล็ดหิมะ
ความสมมาตรของส่วนที่ยื่นออกมาของเกล็ดหิมะนั้น จะเป็นสมมาตรแบบหกด้านเสมอ เนื่องมาจากเกล็ดน้ำแข็งปกตินั้นมีโครงสร้างผลึกหกเหลี่ยม(หรือที่รู้จักกันในชื่อ ice Ih) บนระนาบฐาน(basal plane)
คำอธิบายถึงความสมมาตรของเกล็ดหิมะนั้นโดยทั่วไป มีอยู่ 2 คำอธิบาย คือ
1. อาจเป็นไปได้ที่จะมีการสื่อสารหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างส่วนที่ยื่นออกของเกล็ดหิมะ ซึ่งส่งผลให้การงอกออกของแต่ละก้านนั้นส่งผลถึงกัน ตัวอย่างของรูปแบบที่ใช้ในการสื่อสารนั้นอาจเป็น
ความตึงผิว หรือ โฟนอน(phonon)
2. คำอธิบายที่สองนี้จะค่อนข้างแพร่หลายกว่า คือ แต่ละก้านของเกล็ดหิมะนั้นจะงอกออกโดยไม่ขึ้นแก่กัน ในสภาพแวดล้อมที่
อุณหภูมิ ความชื้น และสภาพแวดล้อมอื่นๆ นั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อเทียบกับขนาดของเกล็ดหิมะแล้วเชื่อว่าสภาพแวดล้อมจะมีสภาพที่เหมือนกันในช่วงขนาดสเกลของเกล็ดหิมะ ซึ่งส่งผลให้การงอกออกของก้านในแต่ละด้านนั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขเหมือนกัน จึงทำให้ลักษณะการงอกออกนั้นเหมือนกัน ในลักษณะเดียวกับที่รูปแบบการเติบโตของวงแหวนอายุในแกนของต้นไม้ในสภาพแวดล้อมเดียวกันจะมีรูปร่างเหมือนๆกัน ความแตกต่างของสภาพแวดล้อมที่ระดับสเกลใหญ่กว่าเกล็ดหิมะนั้นส่งผลให้รูปของเกล็ดหิมะแต่ละเกล็ดนั้นมีรูปร่างที่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่ไม่มีเกล็ดหิมะใดที่มีรูปร่างเหมือนกันนั้นไม่ถูกต้อง เกล็ดหิมะสองเกล็ดนั้นมีโอกาสเหมือนกันได้ เพียงแต่โอกาสนั้นน้อยมาก
American Meteorological Societyได้บันทึกการค้นพบเกล็ดหิมะที่มีรูปร่างเหมือนกันโดย แนนซี่ ไนท์(Nancy Knight) ซึ่งทำงานที่National Center for Atmospheric Research ผลึกที่ค้นพบนั้นไม่เชิงเป็นเกล็ดหิมะซะทีเดียวที่เป็นรูป ปริซึมหกเหลี่ยมกลวง (hollow hexagonal prism)