วันพุธที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

คริสต์มาส


คริสต์มาส เป็นคำทับศัพท์จากภาษาอังกฤษ (Christmas) ซึ่งมาจากคำภาษาอังกฤษโบราณว่า Christes Maesse แปลว่า "บูชามิสซาของพระคริสตเจ้า" คำว่า "Christes Maesse" พบครั้งแรกในเอกสารโบราณเป็นภาษาอังกฤษ (เขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1038) และในปัจจุบันคำนี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็นคำว่า Christmas
ประวัติความเป็นมาของวันคริต์มาส ซึ่งเป็นวันประสูติของพระเยซูนั้น ตามหลักฐานใน
พระคัมภีร์บันทึกไว้ว่า พระเยซูเจ้าประสูติในรัชกาลของจักรพรรดิออกุสตุสแห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งทรงสั่งให้จดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งแผ่นดิน โดยคีรีนิอัส เจ้าเมืองซีเรีย ก็รับนโยบายไปปฏิบัติให้มีการจดทะเบียนสำมะโนครัวทั่วทั้งอาณาเขต แต่ในพระคัมภีร์ ไม่ได้ระบุว่า พระเยซูประสูติวันหรือเดือนอะไร ด้านนักประวัติศาสตร์วิเคราะห์ว่า เดิมทีวันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันที่จักรพรรดิเอาเรเลียนกำหนดให้เป็นวันฉลองวันเกิดของสุริยเทพ
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 274 ชาวโรมันซึ่งส่วนใหญ่นับถือเทพเจ้าฉลองวันนี้เสมือนว่า เป็นวันฉลองของพระจักรพรรดิไปในตัวด้วย เพราะจักรพรรดิก็เปรียบเสมือน
ดวงอาทิตย์ ที่ให้ความสว่างแก่ชีวิตมนุษย์ แต่ชาวคริสต์ที่อยู่ในจักรวรรดิโรมัน รวมถึงชาวโรมันที่เปลี่ยนไปนับถือคริสต์อึดอัดใจที่จะฉลองวันเกิดของสุริยเทพ จึงหันมาฉลองการบังเกิดของพระเยซูเจ้าแทน หลังจากที่ชาวคริสต์ถูกควบคุมเสรีภาพทางศาสนาตั้งแต่ปี ค.ศ. 64 - ค.ศ. 313 จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม ปี ค.ศ. 330 ชาวคริสต์จึงเริ่มฉลองคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเปิดเผย

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ศาลโลก


ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (อังกฤษ: International Court of Justice) หรือที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า ศาลโลก (อังกฤษ: World Court) ตั้งขึ้นโดยกฎบัตรสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ. 2489 เป็นองค์กรหลักภายใต้องค์การสหประชาชาติตั้งอยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทำหน้าที่สืบเนื่องต่อจากศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ (Permanent Court of International Justice) ที่ยุติบทบาทหน้าที่ไปพร้อมกับองค์การสันนิบาตชาติ ( ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ ตั้งขึ้นเมื่อ 10 มกราคม พ.ศ. 2463 )
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีใดๆ ที่เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศ 2 ประเทศขึ้นไป (อังกฤษ: Contentious Case) เช่นข้อพิพาทเรื่องดินแดนอาณาเขต การละเมิดอำนาจอธิปไตย ปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ หรือแม้แต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่รัฐเป็นผู้ฟ้องแทน ฯลฯ ทั้งนี้ประเทศที่เกี่ยวข้องจะต้องยินยอมรับอำนาจศาลให้เป็นผู้พิจารณาตัดสินก่อนเท่านั้น ศาลจึงจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนั้นได้
นอกจากนี้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในทางกฎหมาย ระหว่างประเทศ
(อังกฤษ: Advisory Opinion) ในสามกรณีหลัก คือ กรณีแรก ตามที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ร้องขอ กรณีที่สอง ตามที่องค์กรอื่นภายใต้สหประชาชาติหรือองค์การชำนัญพิเศษแห่งองค์การสหประชาชาติร้องขอโดยได้รับการอนุมัติจากสมัชชาใหญ่ และ กรณีที่สาม ตามที่ได้มีการให้อำนาจวินิจฉัยปัญหาไว้โดยสนธิสัญญา
เมื่อปี
พ.ศ. 2505 ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาได้ยอมรับอำนาจศาลให้พิจารณาตัดสินคดีปราสาทเขาพระวิหาร โดยศาลได้ตัดสินว่าบริเวณปราสาทเขาพระวิหารส่วนสำคัญถือเป็นของประเทศกัมพูชา

วันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ซีต้าแห่งบูร์บอง-ปาร์มา

เจ้าหญิงซีต้าแห่งบูร์บอง-ปาร์มา (พระนามเต็ม: ซีต้า มาเรีย แดลล์ เกรซี่ อาเดลกอนด้า มิคาเอล่า ราฟาเอลล่า กาเบรียลล่า กวีเซปปีน่า แอนโตเนีย หลุยซ่า แอกนีส; Zita Maria delle Grazie Adelgonda Micaela Raffaela Gabriella Giuseppina Antonia Luisa Agnese) พระองค์ทรงเป็นสามชิกราชวงศ์บูร์บอง-ปาร์มา ทรงเป็นพระมเหสีในสมเด็จพระจักรพรรดิคาร์ลที่ 1 แห่งออสเตรีย (สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 4 แห่งฮังการี) พระองค์ทรงเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งออสเตรีย และ สมเด็จพระราชินีแห่งฮังการีด้วย ดังนั้น พระองค์จึงมีพระอิสริยยศว่า สมเด็จพระจักรพรรดินีซีต้าแห่งออสเตรีย (สมเด็จพระราชินีซีต้าแห่งฮังการี) ; Her Imperial and Royal Majesty the Empress-Queen Zita of Austria-Hungary พระองค์ทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของราชวงศ์ฝรั่งเศส ราชวงศ์โปรตุเกส และ ราชวงศ์สเปน
พระองค์ทรงเป็นพระราชบุตรองค์ที่ 17 ใน
ดยุคโรเบิร์ตที่ 1 แห่งปาร์มา เมื่อพระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับอาร์คดยุคคาร์ลเมื่อปีพ.ศ. 2454 อีก 3 ปีต่อมา อาร์คดยุคคาร์ลทรงเป็นองค์รัชทายาทแห่งออสเตรีย-ฮังการี หลังจากที่พระราชปิตุลาของพระองค์ อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย-เอสต์ ถูกลอบปลงพระชนม์เมื่อปีพ.ศ. 2457 พระองค์จึงทรงได้ขึ้นครองราชย์หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิฟรานซ์ โจเซฟทรงสวรรคต
และหลังจากที่
สงครามโลกครั้งที่ 1 พระราชวงศ์อิมพีเรียลถูกอัปเปหิไปอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ขณะที่ประเทศออสเตรียและประเทศฮังการีถูกก่อตั้งขึ้นเป็นสาธารณรัฐขึ้นใหม่ ต่อมาก็ย้ายถิ่นฐานไปประทับที่เกาะมาไดร่า ประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นสถานที่ที่ซึ่งพระสวามีของพระองค์ทรงเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่1 เมษายน พ.ศ. 2465 หลังจากที่พระสวามีสวรรคตแล้ว พระองค์ทรงแบกภาระเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวตั้งแต่ทรงมีพระชนมายุเพียง 28 พรรษา