วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วิหารพาร์เธนอน


วิหารพาร์เธนอน (ภาษากรีก:το parthenon) คือวิหารโบราณบนเนินอะโครโพลิสในกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ สร้างเพื่อเป็นศาสนสถานบูชาเทพีเอเธนา หรือเทพีแห่งปัญญา ความรอบรู้ ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช เป็นสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมกรีกโบราณที่มีชื่อเสียงที่สุด แสดงให้เห็นถึงความเฉลียวฉลาดของสถาปนิกในสมัยนั้นและถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก มีขนาดกว้าง 101.4 ฟุต หรือ 30.9 เมตร และ ยาว 228.0 ฟุต หรือ 69.5 เมตร
คำว่า พาร์เธนอน นั้นน่าจะมาจากประติมากรรมที่เคยตั้งอยู่ภายในวิหาร คือ Athena Parthenos ซึ่งมีความหมายว่า เทพีอันบริสุทธิ์

มหาวิหารโนตเรอดาม


มหาวิหารโนตเรอดาม (ฝรั่งเศส: Cathédrale Notre Dame de Paris, กาเตดราลโนตเรอดามเดอปารี) เป็นมหาวิหารสมัยกอธิค ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส คำว่า Notre Dame ในชื่อวัดนั้นแปลว่า "Our Lady" ปัจจุบันมหาวิหารก็ยังใช้เป็นวัดของนิกายโรมันคาทอลิกและเป็นที่นั่งของอัครบาทหลวงแห่งปารีส มหาวิหารนอเทรอดามถือกันว่าเป็นวัดที่สวยงามที่สุดในลักษณะกอธิคแบบฝรั่งเศส วัดนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยเออแชน วีโยเล-เลอ-ดุก (Eugène Viollet-le-Duc) ผู้เป็นสถาปนิกคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส
การก่อสร้างเป็นแบบกอธิคเป็นมหาวิหารแรกที่สร้างในลักษณะนี้ และการก่อสร้างก็ทำต่อเนื่องมาตลอดสมัยกอธิค
ปฏิมากรรม และหน้าต่างประดับกระจกสี (stained glass) มีอิทธิพลจากศิลปะแบบแนทเชอราลลิสม์ (Naturalism) ทำให้แตกต่างจาก ศิลปะโรมาเนสก์ที่สร้างก่อนหน้านั้น
นอเทรอดามเป็นหนึ่งในบรรดาสิ่งก่อสร้างแรกที่ใช้ "
กำแพงค้ำยันแบบปีกนก" (flying buttress) ตามแบบเดิมไม่ได้บ่งถึงกำแพงค้ำยันรอบมหาวิหาร "Choir" หรือ รอบทางเดินกลางของตัววัด (nave) เมื่อเริ่มสร้างกำแพงวัดสูงขึ้นกำแพงก็เริ่มร้าวเพราะน้ำหนักของสิ่งก่อสร้าง เพราะสถาปนิกสมัยกอธิคจะเน้นการสร้างสิ่งก่อสร้างที่สูง บาง และโปร่ง เมื่อสร้างสูงขึ้นไปกำแพงก็ไม่สามารถรับน้ำหนักและความกดดันของกำแพงและหลังคาได้ทำให้กำแพงโก่งออกไปและร้าว สถาปนิกจึงใช้วิธีแก้ด้วยการเติม "กำแพงค้ำยัน" ที่กางออกไปคล้ายปีกนกด้านนอกตัววัด เพื่อให้กำแพงค้ำยันนี้หนุนหรือค้ำกำแพงตัววัดเอาไว้ เมื่อทำไปแล้วนอกจากจะมีประโยชน์ทางการใช้สอยแล้วยังกลายเป็นเครื่องตกแต่งที่ทำให้สิ่งก่อสร้างความสวยงามขึ้น ฉนั้นวิธีแก้ปัญหานี้จึงกลายเป็นเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของวัดที่สร้างแบบกอธิคไปในตัว
ราวปี ค.ศ. 1790 ระหว่าง
การปฏิวัติฝรั่งเศสวัดก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ประติมากรรมและศิลปะทางศาสนาถูกทำลายไปมาก มหาวิหารได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนมีสภาพเหมือนก่อนหน้าที่ถูกทำลาย

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2552

กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ (Stonehenge)

กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ มีอายุประมาณปลายยุคหินถึงต้นยุคบรอนซ์ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบซาลิสเบอรี ด้านเหนือของเมืองซาลิสเบอรี ในมณฑลวิลไซร์ ห่างจากกรุงลอนดอนไป 10 ไมล์ ประเทศอังกฤษ ไม่มีหลักฐานว่าใครเป็นผู้นำมาวางไว้ และนำมาวางไว้เพื่อจุดประสงค์ใด นักวิทยาศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าสร้างมาเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของมนุษย์ยุคนั้น กองหินประหลาดสโตนเฮนจ์ประกอบไปด้วยก้อนหินทรงสูงขนาดใหญ่จำนวน 112 ก้อนวางตั้งเรียงเป็นรูปวงกลมซ้อนกันสามวง บางก้อนล้มนอน บางก้อนวางทับซ้อนอยู่บนยอด วงหินรอบนอกมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 100 ฟุต มีน้ำหนักเป็นตันๆ บริเวณที่ราบซาลิสเบอรีเป็นทุ่งโล่ง ไม่มีภูเขา และไม่ปรากฏว่ามีก้อนหินอยู่ในบริเวณใกล้เคียง อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2507 เจอรัลด์ เอส เฮากินส์ นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้สันนิษฐานว่า เป็นสถานที่สำหรับทำนายตำแหน่งของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่สัมพันธ์กับการเกิดฤดูกาลบนพื้นโลก คือเป็นปฏิทินที่สร้างขึ้นมาอย่างหยาบๆนั่นเอง

สนามกีฬาแห่งกรุงโรม (The colosseum of Rome)

สนามกีฬาแห่งกรุงโรม เป็นสนามกีฬากลางแจ้งขนาดใหญ่ที่เริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสปาเซียนแห่งอาณาจักรโรมัน และสร้างเสร็จในสมัยของจักรพรรดิติตัส (Titus) ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือ ประมาณปี ค.ศ. 80 อัฒจันทร์เป็นรูปวงกลมก่อด้วยอิฐและหินทรายวัดโดยรอบได้ประมาณ 527 เมตร สูง 57 เมตร สามารถจุผู้ชมได้ประมาณ 50,000 คน ใต้อัฒจรรย์มีห้องใต้ดินที่สร้างขึ้นเพื่อขังสิงโตและนักโทษประหาร ก่อนปล่อยให้ออกมาต่อสู้กันกลางสนาม นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่ประลองฝีมือของเหล่าอัศวินในยุคนั้น ปัจจุบันยังคงเหลือโครงสร้างเกือบสมบูรณ์ตั้งเด่นเป็นโบราณสถานที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ทั่วโลก

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

ซิกกูแรต


ซิกกูแรต (Ziggurat) เป็นสิ่งก่อสร้างของอารยธรรมสุเมเรียน (Sumerians) ในบริเวณเมโสโปเตเมีย มีลักษณะคล้ายพีระมิดแบบขั้นบันไดแต่ไม่ก่อสร้างสูงจนเป็นยอดแหลม ด้านบนของซิกกูแรตซึ่งเป็นพื้นที่ราบกว้างจะสร้างเป็นวิหาร ในระยะแรกการสร้างซิกูแรตมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แต่ต่อมาซิกกูแรตนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังกษัตริย์ เช่น ซิกกูแรตที่เมืองอูร์ (Ur)
ซิกกูแรตสร้างขึ้นด้วยวัสดุจำพวกอิฐและไม้ ความแข็งแรงคงทนจึงสู้งานสถาปัตยกรรมยุคต่อมา เช่น พีระมิดอียิปต์ไม่ได้ เพราะงานของอียิปต์สร้างด้วยวัสดุจำพวกหิน ซิกกูแรตเก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบมีชื่อว่า “The White Temple” พบที่เมืองอูรุค (Uruk) หรือวาร์กา (Warka) บริเวณพื้นที่ประเทศอิรักในปัจจุบัน มีอายุประมาณ 3,500 – 3,000 ปี ก่อนคริสตกาล ซึ่งเก่าแก่กว่าพีระมิดของอียิปต์หลายร้อยปี

วันจันทร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552

ดินแดนอาทิตย์เที่ยงคืน


นอร์เวย์ได้ชื่อ "ดินแดนอาทิตย์เที่ยงคืน" หรือ The Midnight Sun มาจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะโลกกลมและหมุนรอบแกนของตัวเอง พร้อมโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วย โดยจะเอียงแกนเอาขั้วโลกเหนือ-ใต้ สลับเข้าหาดวงอาทิตย์ชั่วระยะหนึ่งใช้เวลาเท่าๆ กันคือประมาณ 4-6 เดือน ระหว่างที่โลกหันเอาขั้วนั้นเข้าหาดวงอาทิตย์จะเป็นฤดูร้อน
เมื่อโลกเอียงเอาขั้วโลกเหนือเข้าหาดวงอาทิตย์ ขั้วโลกเหนือจะได้รับแสงสว่างและความร้อนเต็มที่ สว่างอยู่เป็นเวลา 24 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลานับเดือน จะเห็นอาทิตย์โคจรเป็นทางโค้งอยู่เหนือขอบฟ้า ขึ้นสูงพ้นยอดไม้ และค่อยลดต่ำลงจนเกือบจดขอบฟ้า แต่จะไม่ลับขอบฟ้าไปเสียเลยทีเดียว ก่อนกลับสูงขึ้นไปอีกในตอนเที่ยงคืน ทำให้มีแสงสว่างสาดเป็นทาง ต้นไม้มีเงายาวทอดออกไปตามพื้นดิน คล้ายอาทิตย์ในยามเช้าหรือยามเย็น
ขณะเดียวกัน ฝั่งตรงข้ามคือขั้วโลกใต้จะมืดมิด อากาศหนาวจัดตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อนับเป็นเดือนเช่นกัน แต่เมื่อโลกเอียงเอาขั้วโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ขั้วโลกใต้ก็จะสว่างเป็นเวลานาน และมีปรากฏการณ์เห็นดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงคืนเช่นกัน (เพียงแต่ว่าซีกโลกนั้นไม่มีมนุษย์อยู่อาศัยยืนยัน มีเพียงเพนกวินจักรพรรดิเท่านั้นที่เตาะแตะชมวิว) ยามขั้วโลกเหนือตกอยู่ในความมืด อากาศหนาวจัดตลอด 24 ชั่วโมงติดต่อนับเป็นเดือน
ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์เที่ยงคืน ณ โลกเหนือ จะเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่เหนือเส้นอาร์ติกเซอร์เคิล หรือประมาณเส้นละติจูดที่ 66 องศาเหนือ ทำให้ผู้คนในประเทศที่อยู่เหนือเส้นละติจูดนี้มองเห็นดวงอาทิตย์ทั้งในเวลา กลางวันและกลางคืน
สำหรับนอร์เวย์ สถานที่ที่ชมตะวันยามเที่ยงคืนได้เหมาะเจาะคือเมืองทรอมโซ่ ระหว่าง 16 พฤษภาคม-27 กรกฎาคม และเมืองสวาลบอร์ด ซึ่งเป็นหมู่เกาะกลางมหาสมุทรอาร์กติก ทางตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่นอร์เวย์ขึ้นไปอีก 640 กิโลเมตร ระหว่าง 19 เมษายน-23 สิงหาคม
นอกจากนอร์เวย์ ดินแดนที่อยู่เหนือเส้นอาร์กติกเซอร์เคิล ประกอบด้วย อะลาสกา แคนาดา กรีนแลนด์ ไอซ์แลนด์ สวีเดน ฟินแลนด์ และดินแดนของรัสเซียอย่างบริเวณโนวาวา เซมล์ยา หรือมูร์มันสก์ ก็สามารถมองเห็นอาทิตย์เที่ยงคืนได้เหมือนกัน ทั้งนี้ดินแดนที่เคยมีบันทึกว่าเกิดปรากฏการณ์อาทิตย์เที่ยงคืนนานที่สุด คือทางปลายเหนือสุดของฟินแลนด์ ดวงอาทิตย์ไม่ตกดินนานถึง 73 วัน
สำหรับการจัดเวลากลางวันกลางคืน ดวงอาทิตย์ไม่สร้างความสับสน เพราะว่าไปตามนาฬิกาเป็นปกติ